แนวคิด ของ วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภาได้กล่าวถึงแนวคิดและอุดมการณ์ของอาจารย์วารินทร์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของอาจารย์วารินทร์ไว้ว่า “ในแง่คิดอุดมการณ์ ท่านอาจารย์ ดร.วารินร์ มีอุดมการณ์โน้มเอียงสังคมนิยมประชาธิปไตย เชิดชูอุดมคติ ความเสมอภาคและเสรีภาพ จาจารย์วารินทร์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายประชาชน ฝ่ายผู้คนสามมัญ ไม่ได้อยู่กับฝ่ายนายทุนหรือฝ่ายเจ้าขุนมูลนาย” นอกจากนี้อาจารย์ฉัตรทิพย์ยังกล่าวเสริมต่ออีกว่า “ผมเป็นรุ่นน้องของอาจารย์วารินร์ ผมชื่นชมอาจารย์มากที่อาจารย์วิพากษ์ระบบทุนนิยมและระบบศักดินา ต่างจากนักเศรษฐศาสตร์แบบเท็คนิเชียน ซึ่งไม่สนใจแนวคิดและระบบเศรษฐกิจ สนใจอธิบายแต่การเจริญเติบโตแบบระบบทุน แม้ว่าการเจริญนั้นจะอำนวยประโยชน์ให้บุคคลเพียงกลุ่มเดียว”

อาจารย์วารินทร์เป็นผู้มัความกล้าอย่างปัญญาชน มีอิสระในการคิดและยึดเหตุและผล ไม่กลัวเกรงอำนาจที่ไม่ชอบธรรมซึ่งเห็นได้จากการออกวารสาร “เพื่อน” วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างไม่เกรงกลัว อาจารย์วารินทร์มีบทบาทในสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีก็ได้ชักชวนเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์หลายคน อาทิ ดร.ปรีชา เปี่ยมพงษ์สานต์ ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ซึ่งเป็นอาจารย์ใหม่มาจับกลุ่มกับอาจารย์แนวเศรษฐศาสตร์การเมืองเดิม เช่น ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ดร.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ อาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ รวมทั้งอาจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ก่อตั้งสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองและตั้งสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์สุภา ศิริมานนท์และคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งต่อมาคือสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ ดร.วารินท์ วงษ์หาญเชาว์ เป็นผู้เอาจริงเอาจังกับงาน แม้เคยผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจตีบมาแล้ว 2 ครั้งก็ยังไม่ลดละการทำงาน งานชิ้นสุดท้ายที่อาจารย์วารินทร์เกี่ยวข้องได้แก่โครงการศึกษากรอบความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างไทย-ลาวในฐานะที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งทำให้อาจารย์วารินทร์เดินทางไปประเทศลาวบ่อยครั้ง และได้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายที่โรงแรมแห่งหนึ่งในสุวรรณเขต ประเทศลาว